top of page
ค้นหา

Thriving Zero Waste : จัดการปัญหาขยะด้วย Design Thinking

รูปภาพนักเขียน: Team Thrive VBTeam Thrive VB

อัปเดตเมื่อ 22 เม.ย. 2564



ปัญหาการจัดการขยะที่อยู่คู่ไทยมาอย่างยาวนาน หลายๆคนอาจจะเคยได้ยินว่า “จะแยกไปทำไมสุดท้ายก็เทรวมกันอยู่ดี”


นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ต่อให้มีถังขยะแยกประเภทแต่สุดท้ายคนก็ทิ้งรวมกันอยู่ดี หรือการที่มีถังขยะแยกประเภทหลายใบจนเกินไปก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่คนไม่ทิ้งก็เป็นได้เราอาจจะต้องลงไปดูที่พฤติกรรมของผู้บริโภคว่าจริงๆแล้วทำไมถึงยังไม่เกิดการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพกันแน่

วันนี้เราจึงจะพามาดูหนึ่งในโครงการที่ชื่อว่า Thriving Zero Waste ซึ่งเป็นโครงการที่ Thrive Venture Builder นั้นทำร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โจทย์ที่ได้รับมาคือการแก้ปัญหาการจัดการขยะให้กับชุมชนๆหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี โดยเราจะใช้หลักของ Design Thinking นั้นเข้ามาช่วยจับในส่วนนี้


ทำไมเราถึงต้องแยกขยะ ?


จากจำนวนขยะทั้งหมดที่เราทิ้งหากเรามาแยกดีๆจะพบว่าหลายสิ่งหลายอย่างสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ และขยะบางประเภทก็สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยต่อได้ สุดท้ายขยะที่จะต้องทิ้งจริงๆนั้นมีน้อยมาก แต่ถ้าหากเราไม่แยกเลย ขยะทุกประเภทจะรวมกันและจะไม่สามารถนำไปทำอะไรได้เลย ต้องทิ้งทั้งหมด


หลายๆคนเข้าใจว่าสุดท้ายเวลาพนักงานเก็บขยะมาเก็บก็เทรวมกันอยู่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจผิด ด้วยพนักงานเก็บขยะต้องทำงานแข่งกับเวลาทำให้พวกเขาต้องเทรวมกันก่อนแล้วค่อยมาแยกบนรถอีกที


งั้นเราก็ไม่ต้องแยกขยะก็ได้น่ะสิ..? อย่างที่บอกว่าหากเราไม่แยกขยะตั้งแต่แรกและทิ้งขยะทุกอย่างรวมกันหมด ขยะก็จะปนเปื้อนและขยะบางประเภทที่ควรจะนำกลับมารีไซเคิลได้ก็จะต้องถูกทิ้งทั้งหมด เพราะฉะนั้นการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางนั้นคือทางที่ดีที่สุดก่อนที่จะนำไปทิ้งที่ถังขยะ




เรามาดูกันว่าขยะแบ่งออกเป็นกี่ประเภทและมีอะไรบ้าง โดยทั่วไปขยะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท

1.ขยะเปียก ถังสีเขียว

เป็นขยะที่เน่าเสียง่าย ย่อยสลายเร็ว เช่น เศษอาหาร เศษผักผลไม้ เนื้อสัตว์ ต้นหญ้า ใบไม้แห้ง เป็นต้น

วิธีทิ้งขยะ: ถ้าเป็นเศษอาหารให้เทน้ำแกงหรือน้ำซุปออกก่อน แล้วจึงค่อยทิ้งส่วนที่เป็นเศษอาหาร


2.ขยะรีไซเคิล ถังสีเหลือง

เป็นขยะที่ยังใช้ซ้ำได้ หรือขายได้ เช่น กล่องกระดาษ ขวดพลาสติก กล่องพลาสติก ขวดแก้ว เศษเหล็ก โลหะ อะลูมิเนียม กล่องนม เป็นต้น

วิธีทิ้งขยะ: ควรทำความสะอาดก่อนแยกทิ้ง เพื่อให้ง่ายกับการจัดการต่อ เช่น เทน้ำที่เหลือออกจากขวด ทำความสะอาดก่อนทิ้ง แกะฉลากพลาสติก และแยกทิ้งตามประเภทของขยะ


3.ขยะทั่วไป ถังสีน้ำเงิน

เป็นขยะที่ย่อยสลายยาก ไม่มีพิษ เปื้อนอาหาร ไม่คุ้มต่อการรีไซเคิล เช่น หลอด ถุงขนม เปลือกลูกอม กล่องโฟม ถุงพลาสติก ฟอยล์ เป็นต้น

วิธีทิ้งขยะ: แยกทิ้งเฉพาะขยะทั่วไปเท่านั้น ขยะที่ต้องนำไปกำจัดก็จะลดลง งบประมาณในการกำจัดขยะก็น้อยลงไปด้วย และปลายทางก็สามารถนำขยะไปจัดการได้ง่าย

4.ขยะอันตราย ถังสีส้ม

ขยะที่มีสารเคมี สารพิษ หรือวัตถุไวไฟ เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย กระป๋องสเปรย์ ยาฆ่าแมลง ยาหมดอายุ เป็นต้น

วิธีทิ้งขยะ: ควรแยกทิ้งขยะอันตรายเท่านั้น เพราะเป็นขยะที่ทำให้เกิดอันตรายได้ ปลายทางจะสามารถนำขยะอันตรายไปกำจัดได้ถูกวิธี เพื่อไม่ไห้สารเคมีหรือสารพิษรั่วซึมลงแหล่งน้ำ หรือชั้นผิวดิน ทำให้เกิดมลพิษต่อโลกน้อยลง


แล้ว Design Thinking จะเข้ามาช่วยได้อย่างไร

Design Thinking (กระบวนการคิดเชิงออกแบบ) คือกระบวนการคิดที่ใช้การทำความเข้าใจในปัญหาต่างๆ อย่างลึกซึ้ง โดยเอาผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง และนำเอาความคิดสร้างสรรค์และมุมมองจากคนหลายๆ สายมาสร้างไอเดีย แนวทางการแก้ไข และนำเอาแนวทางต่างๆ นั่นมาทดสอบและพัฒนา เพื่อให้ได้แนวทางหรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับผู้ใช้ โดยจะแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน คือ





1.Empathize (การทำความเข้าใจต่อกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด )

2.Define (การกำหนดปัญหาให้ชัดเจน)

3.Ideate (การระดมความคิดใหม่ๆ)

4.Prototype (การสร้างต้นแบบ)

5.Test (การทดสอบ)





หลายคนอาจจะเคยได้ยิน Design Thinking มาจากหลายๆมุม ไม่ว่าจะเป็นในมุมธุรกิจ หรือการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ วันนี้เราจึงอยากมานำเสนอในมุมมองของการจัดการขยะกัน


อย่างแรกสุดเราเริ่มจากการลงพื้นที่เพื่อเข้าไปสำรวจปัญหาในชุมชน เพื่อที่จะได้เข้าใจปัญหาและทำความคุ้นเคยกับคนในพื้นที่ก่อนที่จะเริ่มลงมือทำ (Empathize) สิ่งแรกที่เราเจอคือ โดยปกติชุมชนมีการคัดแยกขยะกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะขวดพลาสติกที่หลังจากแยกแล้วจะนำไปขายอยู่ตลอด แต่ด้วยจำนวนที่เพิ่มขึ้นของคนในชุมชน และความถี่ในการมาเก็บของรถขยะนั้นน้อยลง จากเมื่อก่อนที่มาเก็บวันละครั้ง ปัจจุบันเหลือแค่อาทิตย์ละ 1-2 ครั้งเท่านั้น ทำให้เกิดการระบายขยะไม่เพียงพอ และก่อให้เกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ จากสิ่งที่พบเจอและปัญหาที่เกิดขึ้นเราเลยตั้งโจทย์ว่า “จะช่วยให้ชุมชนมีการจัดการขยะที่ดีขึ้นได้อย่างไร” (Define)





เราจึงได้ระดมไอเดียกัน (Ideate) โดยมีโจทย์ว่าจากปัญหาขยะที่ล้นจนเกิดการระบายไม่พอและส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์นั้นเราจะช่วยให้ชุมชนมีการจัดการขยะที่ดีขึ้นได้อย่างไร เราเริ่มจากการจัดการกับพวกขยะเปียกหรือพวกเศษอาหารต่างๆก่อน เพราะสิ่งนี้เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์เมื่อเกิดขยะปริมาณมากโดยวิธีที่เราจะใช้คือการนำขยะเปียกมาเปลี่ยนเป็นปุ๋ยหมัก


กระบวนการหมักปุ๋ย คือ เราจะนำเศษอาหารที่เหลือมากรองส่วนที่เป็นน้ำออกก่อนและนำเฉพาะส่วนที่เป็นเศษอาหารมาใส่ในถังที่เราเตรียมไว้ และฝังกลบด้วยผงหมักปุ๋ยก่อนที่จะหมักทิ้งไว้จนได้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ออกมา


เมื่อเราได้วิธีการเราจึงได้นำไปให้ผู้นำของชุมชนได้ลองใช้ก่อน (Prototype&Test) เพื่อที่จะดูว่าวิธีการที่เราคิดมาเมื่อนำมาใช้กับชุมชนจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ หลังจากที่ทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์เราจึงกลับมาดูและได้พบปัญหาหลายๆข้อ คือ

  • ไม่รู้ว่าเศษอาหารอันไหนใส่ได้บ้างไม่ได้บ้าง

  • ไม่รู้ว่าต้องหมักทิ้งไว้กี่วัน

  • ไม่รู้ว่าต้องเทผงหมักปุ๋ยมากน้อยแค่ไหน

  • ถ้าที่บ้านไม่ได้ปลูกต้นไม้หรือใช้ปุ๋ย หมักไว้เยอะแล้วไม่ได้ทำอะไรสุดท้ายก็สิ้นเปลืองอยู่ดี



เราจึงนำกลับมาคิดต่อว่าทำยังไงถึงจะแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้ โดยที่ 3 ปัญหาแรกนั้นสามารถแก้ได้ด้วยการทำคู่มือการใช้งานที่สามารถอ่านและเข้าใจง่ายเพื่อแจกให้กับผู้ใช้พร้อมกับถังหมัก ส่วนปัญหาที่ว่าหากที่บ้านไม่ได้มีความต้องการใช้ปุ๋ยเยอะขนาดนั้น เราได้เสนอไปว่า ลองทำเป็นศูนย์รวมปุ๋ยหมักของชุมชน และเมื่อถึงจำนวนที่ครบกำหนดก็จะนำปุ๋ยหมักที่ได้ไปแลกเปลี่ยนกับเกษตรกรที่มีผักและผลไม้เหลือจากการขาย ซึ่งการทำอย่างงี้นอกจากจะช่วยให้ไม่เกิดผักและผลไม้ที่เหลือจากการขายแล้ว เกษตรกรยังได้ปุ๋ยหมักสำหรับการปลูกที่จะสามารถลดต้นทุนในการปลูกครั้งต่อไปอีกด้วย เกิดเป็น Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน)




หลังจากที่เราทดลองกับผู้นำชุมชนเรียบร้อยแล้วสิ่งต่อไปคือ จะโน้มน้าวยังไงให้คนในชุมชนที่เหลือใช้ตาม อย่างแรกคือเราต้องให้ความรู้กับชุมชนเกี่ยวกับการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ก่อนเพื่อชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่เค้าจะได้รับหากเค้ามาทำสิ่งนี้กับเรา นอกจากนั้นเรายังได้แจกธงรักษ์โลกให้กับแต่ละบ้านที่ใช้ถังหมักปุ๋ยอินทรีย์เพื่อให้คนที่ใช้เกิดความภูมิใจว่าเค้าเป็นส่วนหนึ่งของการรักษ์โลก และสุดท้ายทุกๆสิ้นเดือนจะมีการประชุมกันจะมีการตั้งเป้าหมายว่าจะนำเงินที่ได้จากการขายขยะหรือปุ๋ยหมักนั้นไปซื้ออะไรให้กับชุมชนเพื่อให้เกิดแรงจูงใจร่วมกันในการช่วยกันจัดการขยะ



จากการลงพื้นที่โครงการนี้ เราพอจะสรุปได้ว่าการจะแก้ปัญหาอะไรก็ตามอย่างแรกคือเราควรศึกษาและเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริงก่อน เพราะพอได้ลงไปทำจริงๆ เราจึงได้รู้ว่าสิ่งที่ชุมชนต้องการอาจจะไม่ใช่ถังขยะที่ดีที่สุด แต่เป็นสิ่งที่เค้าภูมิใจและอยากใช้มันมากที่สุด และหากเจอปัญหาให้ทำความเข้าใจและค่อยหลังจากที่เค้าได้เป็นส่วนหนึ่งในการลงมือทำ เค้าจะรู้สึกภาคภูมิใจกับสิ่งเค้าทำ และอยากที่จะเป็น

กระบอกเสียงให้คนอื่นได้ใช้ต่อ


สำหรับใครที่ชื่นชอบและสนใจโปรเจคการแก้ไขปัญหาสังคมแบบนี้ อย่าลืมกดไลค์และติดตามเพจไว้ หากมีเรื่องราวดีๆอย่างนี้อีก เราจะนำมาฝากอย่างแน่นอน :)



ดู 1,966 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


bottom of page